วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

การให้วัคซีน MMR ในเด็กนักเรียน





วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

โรคและความสำคัญ


              โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ยังเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก สาเหตุเกิดจากไวรัส 3 ชนิด ติดต่อได้ง่าย หลายคนยังคิดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เด็ก ๆ ก็มักเป็นกันแทบทุกคน แต่ความจริงเด็กที่ติดเชื้อประมาณ ร้อยละ 10 เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และที่รุนแรงถึงเสียชีวิตคือ สมองอักเสบ มีรายงานการระบาดเป็นครั้งคราวในหลายประเทศ มีเด็กเสียชีวิตปีละหลายแสนคน เพราะขาดความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน

              โรคคางทูมส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่มีอาการ แต่การติดเชื้อในวัยรุ่นจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากกว่าในเด็กเล็ก ที่พบบ่อยที่สุดคือ อัณฑะอักเสบ (ร้อยละ 50) ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ ตับอ่อนอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนโรคหัดเยอรมัน อาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อในสตรีที่ตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของการแท้งบุตร หรือทารกในครรภ์พิการ

               ประเทศไทยได้บรรจุวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ให้เด็กทุกคน ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 อัตราป่วยของโรคทั้งสามในระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึง ปี พ.ศ. 2550 ได้ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูมลดลงร้อยละ 70 60 และ 50 ตามลำดับ

วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

                เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ประกอบด้วยไวรัส 3 ชนิดที่เป็นสาเหตุของโรค ตัวอย่างวัคซีนที่มีขายในท้องตลาดได้แก่ MMRII Trimovax Priorix ทุกยี่ห้อมีค่าความแรงของไวรัสแต่ละตัวเท่ากัน แต่สายพันธุ์ที่ใช้ต่างกันไปบ้าง วัคซีนทุกยี่ห้อใช้แทนกันได้
ขนาด และการบริหารวัคซีน

แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของไทย กำหนดให้วัคซีน 2 เข็ม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เข็มแรกเมื่ออายุ 9 ถึง 12 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่รบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเหล่านี้ในลูก และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี สำหรับเด็กโต หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีมีการระบาด ให้ 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

ประสิทธิภาพ

                  การศึกษาในเด็กไทยพบว่าวัคซีน MMR เมื่อให้ในทารกอายุ 9 เดือน จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดร้อยละ 85-95 มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันร้อยละ 96-99 และภูมิคุ้มกันต่อโรคคางทูมร้อยละ 63-95

ผลข้างเคียง

                  ร้อยละ 10 มีอาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด ร้อยละ 5 มีไข้และอาจมีผื่นหรือปวดข้อร่วมด้วย เกิดในวันที่ 5-12 หลังรับวัคซีน อาการรุนแรงพบน้อยมากที่สำคัญคือ ชักเนื่องจากไข้สูง (แต่ไม่ทำให้พิการหรือเป็นโรคลมชักต่อเนื่องมาในภายหลัง) ภาวะเกร็ดเลือดต่ำภายหลังรับวัคซีน 15-35 วัน พบ 33 รายใน 1 ล้านโด๊ส สมองอักเสบภายหลังรับวัคซีนประมาณ 15 วัน พบเพียง 1 รายใน 2 ล้านโด๊ส